วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)




ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)
Mollusca มาจากภาษาละติน (molluscus = soft) แปลว่า นิ่ม หมายถึงลำตัวนิ่ม จึงเรียกสัตว์ลำตัวนิ่ม ซึ่งมักจะมีเปลือก (shell) หุ้มอีกชั้นหนึ่ง เป็นสารพวกแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) หรือบางชนิดเปลือกก็ลดรูปไปเป็นโครงร่างที่อยู่ภายในร่างกาย สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคา เรียกโดยทั่วไปว่า มอลลัสก์ (mollusk) ที่รู้จักกันดีได้แก่หอยกาบคู่ (clams) หอยกาบเดี่ยว (snail) หอยงาช้าง (tusk shell) หมึกต่าง ๆ เช่น หมึกกล้วย (squid) หมึกสายหรือหมึกยักษ์ (octopus) และลิ่นทะเล (chiton) หรือเรียกว่าหอยแปดเกล็ด ซึ่งปัจจุบันพบสัตว์ในไฟลัมนี้มากกว่า 150,000 สปีชีส์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม และมีบางส่วนอยู่ในน้ำจืด และบนบก
ลักษณะที่สำคัญ
1. ขนาด ซึ่งมีขนาดตั้งแต่เล็กมาก จนถึงขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังด้วยกัน เช่นหมึกบางตัวยาวถึง 16 เมตร ความยาวรอบตัว 6 เมตร และหนักหลายพันกิโลกรัม ซึ่งขนาดทั่ว ไปยาวประมาณ 1 – 3 นิ้ว
2. ร่างกายอ่อนนิ่ม ไม่มีปล้อง ประกอบ ด้วยส่วนต่าง ๆ
2.1 ส่วนหัว บางชนิดมีส่วนหัวชัดเจนแต่บางชนิดไม่เจริญ บนหัวอาจมีหนวด (tentacles) บางชนิดมีตาเจริญดีมาก เทียบเท่ากับตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น หมึก แต่บางชนิดไม่มีตาเลย
2.2 ส่วนเท้า (foot) เป็นส่วนของกล้ามเนื้อที่อยู่ทางด้านท้อง (ventral) ใช้เคลื่อนที่หรือไชดิน
2.3 ก้อนอวัยวะภายใน (visceral mass) ซึ่งประกอบด้วยระบบอวัยวะต่าง ๆ
2.4 เยื่อแมนเทิล (mantle) เป็นเยื่อบาง ๆ ที่ปกคลุมตัวและติดต่อพื้นด้านในของกาบ (shell) เยื่อแมนเทิลทำหน้าที่สร้างเปลือกหุ้มตัวและรับความรู้สึก ส่วนช่องที่อยู่ระหว่างเยื่อแมนเทิลกับก้อนอวัยวะภายใน เรียกว่าช่องแมนเทิล (mantle cavity) ภายในช่องแมนเทิลมีเงือก (gill)
3. ระบบทางเดินอาหารเป็นแบบสมบูรณ์คือ มีปาก และทวารหนัก ทางเดินอาหารมักมีลักษณะเป็นท่อขดเป็นเกลียวหรือรูปตัวยู ประกอบด้วย ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ และทวารหนัก มีต่อมสร้างน้ำย่อยและตับ นอกจากนั้น มีอวัยวะที่ใช้ในการบดอาหารในบริเวณคอหอยมีลักษณะคล้ายตะไบ เรียกว่า แรดูลา (radula) ซึ่งไม่มีในสัตว์กลุ่มอื่นๆ
4. มีช่องตัวที่แท้จริง (coelom) มีลักษณะลดลงมากเหลืออยู่ในลักษณะเป็นช่องรอบหัวใจ (pericardial cavity) ช่องไต และอวัยวะสืบพันธุ์
5. ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นระบบเปิด (open circulation system) ที่เจริญมีหัวใจ 3 ห้อง คือออริเคิล 2 ห้อง เวนติเคิล 1 ห้อง อยู่ภายในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardium) มีเส้นเลือดนำไปตามส่วนต่าง ๆของร่างกาย นอกจากนั้น เลือดยังซึมแพร่เข้าไปในแอ่งรับเลือด (blood sinus หรือ hemocoel) เซลล์เม็ดเลือดของมอลลัสก์ เป็นเซลล์ประเภทอมีโบไซด์ ลอยอยู่ในน้ำเลือด (plasma) รงควัตถุในการแลกเปลี่ยนแก๊สเป็น ฮีโมไซยานิน (hemocyanin) ซึ่งเมื่อรวมตัวกับออกซิเจนจะเป็นสีฟ้าอ่อน มีบางชนิดเท่านั้นที่เป็นฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เช่นหอยแครง
6. หายใจโดยใช้เหงือก (gills) หรือปอด (lung) ผิวหนังและเยื่อแมนเทิล
7. การขับถ่าย มี ไตหรือเนฟริเดียม (nephridium) 1 หรือ 2 คู่ หรืออาจมีเพียงอันเดียว ไตมีลักษณะเป็นท่อยาวปลายข้างหนึ่งเปิดเข้าในช่องรอบหัวใจ ปลายอีกข้างหนึ่งเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณช่องแมนเทิล
8. ระบบประสาท ประกอบด้วยปมประสาท (ganglia) 3 คู่ และมีเส้นประสาทใหญ่ (nerve cord) 2 คู่ เส้นประสาทคู่ที่หนึ่งออกจากสมองหรือปมประสาทสมอง (cerebral ganglia)ไปยังปมประสาทที่เท้า (pedal ganglia) ส่วนเส้นประสาทคู่ที่ 2 ออกจากปมประสาทสมองไปยังปมประสาทอวัยวะภายใน (visceral ganglia) สำหรับปมประสาทสมองนั้นมีลักษณะเป็นวงแหวน (nerve ring) ล้อมรอบหลอดอาหารส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นสมอง
9. เพศ ส่วนใหญ่มีเพศแยกกันเป็นตัวผู้และตัวเมีย (dioecious) แต่บางชนิดเป็นกะเทย (hermaphrodite) และสามารถเปลี่ยนเพศได้ (protandry) การปฏิสนธินั้น เป็นทั้งแบบภายในตัวหรือภายนอกตัว พวกที่อยู่ในทะเลจะมีระยะตัวอ่อนที่เรียกว่า โทรโคฟอร์ (trochophore larva) ด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น